ปลากัด

วันอังคารที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อนุบาลปลากัด


เมื่อการผสมพันธุ์เสร็จสิ้นลง แม่ปลาได้ไห้ไข่จำนวนมาก ให้จับแม่ปลาออกจากบ่อเพาะเลี้ยง ควรจะกระทำอย่าให้กระทบกระเทือนกับไข่ที่อยู่ในหวอด ปล่อยให้พ่อปลาคอยดูแลไข่ต่อไป ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ภายใน 36 - 48 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำ ก็จะเริ่มฟักเป็นตัว ในระยะนี้เรียกว่า "หมัดหมา" จะเกาะกันแน่นอยู่ภายในหวอด โดยมีพ่อปลาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ลูกปลากัดเมื่อเป็นตัวใหม่ ๆ ยังไม่สามารถว่ายน้ำได้ต้องอาศัยแขวนลอยอยู่ในหวอด เมื่อร่วงหล่นลงมา พ่อปลาจะตามลงไปอมมาพ่นไว้ในหวอด ลูกปลาในช่วงนี้ยังไม่ต้องการอาหารเพราะมีถุงไข่แดง (Yolk Sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นในช่วงระยะ 2 - 3 วันแรกยังไม่จำเป็นที่จะให้อาหาร ลูกปลาในครอกหนึ่ง ๆ นั้นการเจริญเติบโตจะไม่เท่ากัน "ปลาหัวไข่" หมายถึงไข่ปลาที่ถูกรัดในทีแรก ๆ เมื่อเป็นตัวจะมีขนาดใหญ่กว่าและเจริญเติบโตได้เร็วกว่าลูกปลาที่ถูกรัดในตอนหลัง จึงควรคำนึงถึงข้อนี้ด้วยว่าลูกปลาต้องการอาหารเมื่อไร


จากการวิจัย โดยอาจารย์วันเพ็ญ มีนกาญจน์ และคณะ ถึงการเจริญเติบโตของลูกปลากัดตั้งแต่อายุได้ 1 ถึง 30 วัน พบว่า ลูกปลากัดอายุ 1 วัน ตัวอ่อนจะแขวนลอยตัวอยู่ในหวอด ส่วนหัวคล้ายลูกน้ำ บริเวณท้องจะมีถุงสะสมอาหารมองเห็นเป็นถุงกลมพบมีรงควัตถุสีดำบริเวณหัวและถุงสะสมอาหาร ลำตัวมีลักษณะสีขาวขุ่น มีเยื่อครีบเกิดขึ้นรอบ ๆ ลำตัวจะเจริญต่อไปเป็นครีบ ครีบก้น และครีบหาง สังเกตุเห็นครีบอกได้เด่นชัด เริ่มสังเกตุเห็นปากและรูก้น ตามีสีดำและเด่นชัด ลูกปลาอายุ 2 วัน ตัวอ่อนยังแขวนลอยติดกับหวอด ถุงสะสมอาหารของตัวอ่อนจะเริ่มยุบลงเล็กน้อย ปากเริ่มเปิด รูก้นยื่นจากลำตัวเห็นชัด เริ่มสังเกตุเห็นรอยแยกระหว่างกระพุ้งแก้มกับลำตัว กระดูกสันหลังเจริญดีขึ้นซึ่งเป็นแกนของลำตัว ลักษณะเป็นข้อ ๆ และก้านยื่นตามแนวเหมือนหนามเกิดขึ้นในแต่ละข้อ ลูกปลาอายุ 3 วัน ตัวอ่อนจะมีถุงอาหารยุบลงเหลือเพียงเล็กน้อย ปากเริ่มเปิด พร้อมที่จะกินอาหาร เยื่อครีบยังไม่แยกออกเป็นครีบหาง ครีบก้น ครีบหลัง และเริ่มสังเกตุเห็นระบบทางเดินอาหาร ลูกปลาอายุ 4 วัน ตัวอ่อนลูกปลาเริ่มว่ายน้ำสลับกับลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ เป็นเวลานาน ถุงอาหารยุบหมด เห็นระบบทางเดินอาหารเด่นชัดขึ้น และมีกระเพาะลมเกิดขึ้นเหนือทางเดินอาหาร เยื่อครีบเริ่มคอดเว้าแบ่งส่วนของครีบหาง ครีบก้น และครีบหลัง ลูกปลาอายุ 5 วัน ตัวอ่อนลูกปลาจะเริ่มแข็งแรงขึ้น บริเวณท้องมีสีเข้มทึบไม่สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ ส่วนของเยื่อครีบจะเกิดป็นครีบ และครีบหางเริ่มกลมมน ลูกปลาอายุได้ 6 - 9 วัน ตัวอ่อนของลูกปลาจะมีส่วนท้องหนาเพิ่มขึ้น กระดูกบริเวณส่วนหางจะโค้งงอขึ้น เริ่มสังเกตุเห็นก้านครีบของครีบหาง แต่ก้านครีบยังไม่แบ่งเป็นข้อ ๆ ลักษณะของกระดูกสันหลังเห็นข้อและหนามที่ยื่นออกมาตามข้อเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ลูกปลาอายุ 10 วัน ลูกปลาจะเริ่มหากินเหมือนกับตัวเต็มวัย เยื่อครีบแบ่งออกเป็นครีบหลัง ครีบหางมีก้านครีบ 8 ก้าน แต่ไม่แบ่งเป็นข้อ ๆ และเห็นครีบก้นอย่างชัดเจน ลูกปลาอายุ 15 วัน ลูกปลาจะเริ่มมีลำตัวทึบแสง ไม่สามารถมองเห็นอวัยวะภายใน เห็นกระเพาะลมเด่นชัด ครีบหางเปลี่ยนเป็นรูปกลมมน มีก้านครีบ 10 ก้าน ยังไม่แบ่งเป็นข้อ ๆ ลูกปลาอายุ 30 วัน ลูกปลาจะมีลำตัวหนาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทึบแสงไม่สามารถมองเห็นอวัยวะภายใน มีรงควัตถุกระจายบริเวณลำตัวและหัวมีแถบสีดำ 2 แถบขนานกันอยู่กลางลำตัวจากหัวไปถึงโคนหาง ครีบก้นมีก้านครีบ 27 ก้าน ครีบหลัง มีก้านครีบ 11 ก้าน มีลักษณะเหมือนกับตัวเต็มวัย


การใช้อาหารทดแทนเพื่ออนุบาลลูกปลา ระยะเริ่มแรกลูกปลาต้องการอาหารโปรตีนจำนวนมาก การใช้อาหารทดแทนในช่วงแรกด้วยการใช้ไข่แดงต้มสุก ไม่ว่าจะเป็น ไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่นกกระทา ก็ตาม มีวิธีง่าย ๆ ที่สามารถใช้ทดแทนอาหารมีชีวิตที่มีขนาดเล็กได้ คือ ต้มไข่ให้สุกในน้ำเดือดนาน ๆ จนแข็ง นำเฉพาะไข่แดงที่ได้มาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มาขยี้ผ่านกระชอนตาถี่ในชามที่ใส่น้ำไว้เล็กน้อย เมื่อได้ไข่แดงที่ละเอียดดีแล้วให้เทใส่ ฟ๊อกกี้ (ที่ฉีดพ่นน้ำสำหรับรีดผ้า) เติมน้ำลงไปอีก นำไปฉีดพ่นใส่แก้วน้ำที่ใส่น้ำไว้เต็มแก้ว สังเกตุดูละออองของไข่แดงในแก้วน้ำว่ามีความหนาแน่นมากน้อยเพียงใด ถ้ามีความหนาแน่นมากให้เติมน้ำลงไปอีก จนสังเกตุได้ว่าละอองไข่แดงแยกกระจายดีไม่เกาะกันเป็นกลุ่มหนาแน่น ความหนาแน่นของละอองไข่ถ้ามากและลูกปลากินไม่หมดจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ (การทดสอบเพื่อให้ทราบความหนาแน่นของละอองไข่จึงจำเป็นมาก ละอองไข่ที่ไม่หนาแน่นจะค่อย ๆ จมลงสู่ก้นบ่อเพาะอย่างช้า ๆ พอดีกับที่ลูกปลากินได้ทัน และไม่มากจนเกินไป ป้องกันน้ำเสียได้ดี) นำไปฉีดพ่นในบ่อเพาะเลี้ยงปลากัด เพื่อใช้แทนอาหารมีชีวิตได้ดีในช่วงแรกของการอนุบาลลูกปลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น